สารเคมีในชีวิตประจำวันกับหลากหลายความเชื่อ (ความเชื่อ : น้ำเกลือรักษาสิวได้จริง(หรือ?)
หลากหลายเรื่องราวความเชื่อในการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวันเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้สัมผัสกับตัวเองมาก่อนแล้วไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจพบว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นแค่ความเชื่อหรือบางเรื่องราวสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งความเชื่อในการใช้สารเคมีเหล่านั้นจะยังคงอยู่ต่อไปหากเราไม่นำมาทดสอบว่าใช้ได้จริงหรือไม่มีข้อมูลเพียงพอที่มาสนับสนุนในรายละเอียดของความเชื่อเหล่านั้น ดังตัวอย่างของเรื่องราวความเชื่อที่เป็นประเด็นหรือเคยเป็นประเด็นและหลายคนเชื่อ (หรือไม่?) ในบทความตอนนี้ คือ
“น้ำเกลือรักษาสิวได้จริง (หรือ?)”
น้ำเกลือ ที่หลายคนเชื่อว่าเมื่อนำมาเช็ดหรือล้างทำความสะอาดผิวบนบริเวณใบหน้าที่เกิดสิวและมีฤทธิ์ในการช่วยยับยั้งหรือรักษาสิวได้นั้น คือ
“น้ำเกลือที่ใช้ล้างแผล” (นอร์มอลซาลีน โซลูชันม, Normal Saline Solution; NSS) ซึ่งเตรียมจากการละลายเกลือโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride, NaCl) ในน้ำบริสุทธิ์ โดยมีความเข้มข้นที่ 0.9% โดยน้ำหนักต่อปริมาตร (เกลือโซเดียมคลอไรด์ น้ำหนัก 0.9 กรัม ละลายในน้ำ 100 มิลลิลิตร) และมีค่า pH อยู่ที่ 5.5 (หรือ ระหว่าง 4.5-7.5) สารละลายเกลือที่เตรียมได้ในทางการแพทย์จะถูกนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ (Sterilization) ดังนั้น สารละลายเกลือที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวจึงมีความสะอาดปราศจากเชื้อโรคเหมาะที่จะนำไปใช้ทำความสะอาดแผลเปิดหรือบริเวณผิวหนังที่ต้องการความสะอาดและเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสารละลายที่นำมาใช้ล้าง นอกจากนั้น ด้วยคุณสมบัติของสารละลายเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% ซึ่งมีสภาวะที่ใกล้เคียงกับของเหลวในร่างกายและผิวหนัง ดังนั้น จึงไม่ระคายเคืองผิวและไม่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ตามมาในภายหลัง
จากข้อมูลเบื้องต้น การใช้น้ำเกลือที่ความเข้มข้นที่ 0.9% (สำหรับใช้ภายนอก) ทำความสะอาดใบหน้าหรือผิวเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เนื่องจากคุณสมบัติที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง จึงเหมาะที่จะนำไปใช้ทำความสะอาดใบหน้าที่เกิดการแพ้ที่เกิดจากสารเคมีในเครื่องสำอางค์หรือผลิตภัณท์ที่ใช้สำหรับดูแลผิวพรรณได้ แล้วสำหรับการใช้รักษาสิวหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรียนั้นหละ ทำได้จริงหรือ?
สิวโดยทั่วไปเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิเช่น เกิดจากความผิดปกติของหนังกำพร้า, ปริมาณไขมัน (sebum) ที่ต่อมไขมัน (sebaceous gland) สร้างขึ้น, การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนหรือ สภาวะความเครียด เป็นต้น แต่สาเหตุหลักมักเกิดจากการสะสมของไขมันที่สร้างจากต่อมไขมันในบริเวณรูขุมขน (hair follicle) จนทำให้เกิดการอุดตัน และส่งผลให้มีสภาวะที่ขาดออกซิเจนภายในบริเวณรูขุมขน ซี่งทำให้เชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes (P. acnes) ที่อาศัยอยู่ภายในรูขุมขนและเป็นสาเหตุสำคัญสำหรับการเกิดสิว สามารถเจริญเติบโตได้ดีภายใต้สภาวะที่ขาดออกซิเจน เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วโดยอาศัยอาหารจากการย่อยสลายไขมันที่ขับออกมาจากต่อมไขมันให้เป็นกรดไขมันอิสระ และปล่อยสารเคมีบางชนิด เช่น lipases, proteases, และ hyaluronidases เป็นต้น ซึ่งมีผลต่อการอักเสบของผิวหนัง นอกจากนั้น การเจริญเติบโตของ P. acnes ยังมีผลให้เกิดการกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวโมโนไซด์ (monocyte) ให้เกิดการหลั่งโปรตีนที่มีผลต่อการอักเสบ ผลของกระบวนการเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการอักเสบและตุ่มหนองตามมาในภายหลัง
นอกจากข้อมูลข้างต้นแล้ว จากงานวิจัยหลายเรื่องที่ศึกษาเกี่ยวข้องกับการทดสอบหรือการเลี้ยงเชื้อที่พบมากบนบริเวณใบหน้า อาทิเช่น P. acnes, Staphylococcus aureus (S. aureus) และ Corynebacterium เป็นต้น ในหลอดทดลอง (In Vitro) นั้น พบว่ามักมีการใช้สารละลายเกลือฟอสเฟส (Phosphate Buffer Saline solution; PBS) ที่มีปริมาณเกลือโซเดียมคลอไรด์ใกล้เคียงกับ NSS หรือใช้สารละลายเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่มีความเข้มข้นใกล้เคียงกับ NSS เป็นสารละลายสำหรับใช้เจือจางปริมาณเชื้อแบคทีเรียเพื่อให้ได้ความเข้มข้นของเชื้อแบคทีเรียตามที่ต้องการสำหรับใช้ในการทดลอง ดังนั้น สารละลายเกลือ (NSS) จึงไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่พบมากบริเวณใบหน้าได้อย่างแน่นอน
ดังนั้น ความเชื่อที่ว่าการใช้น้ำเกลือรักษาสิวนั้นจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ตามหลักของความเป็นจริง เพราะคุณสมบัติของน้ำเกลือไม่ได้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดสิวแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามการเช็ดหรือทำความสะอาดผิวหน้าด้วยน้ำเกลือนั้น มีส่วนช่วยในการลดการสะสมของไขมันที่อุดตันในรูขุมขนได้ ถึงแม้ว่าไขมันจะเป็นสารประเภทไม่มีขั้ว ไม่สามารถละลายในน้ำที่จัดว่าเป็นสารมีขั้วได้ แต่การใช้น้ำหรือน้ำเกลือล้างหน้าสามารถช่วยชะล้างคราบมันออกได้ ถึงแม้จะมีประสิทธิภาพที่ด้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณท์สำหรับทำความสะอาดผิวพรรณตามท้องตลาด แต่ข้อดีของน้ำเกลือที่สำคัญก็คือ มีความอ่อนโยนต่อผิวหนังซึ่งไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ตามมาในภายหลัง
ข้อสรุป
การเช็ดล้างทำความสะอาดใบหน้าด้วยน้ำเกลือสามารถช่วยลดการสะสมของไขมันที่อุดตันในรูขุมขน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการก่อเกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิวได้ แต่น้ำเกลือไม่ได้รักษาสิวด้วยการออกฤทธิ์
“ฆ่าเชื้อ” แต่อย่างไร
เอกสารอ้างอิงและแหล่งข้อมูล :
www.vachiraphuket.go.th
www.public-health/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=177
http://scienceofacne.com/what-is-acne/hair-follicle-sebum-and-sebaceous-gland-3
Kim, J. (2005). Review of the innate immune response in acne vulgaris: Activation of Toll-like receptor 2 in acne triggers inflammatory cytokine responses. Dermatology, 211(3), 193–198.
Tsai, T.-H., Tsai, T.-Hs., Wu, W.-H., Tseng, T.-P.J., & Tsai, P.-J. (2010) In vitro antimicrobial and anti-inflammatory effects of herbs against Propionibacterium acnes. Food Chemistry, 119, 964–968.
สารเคมีที่เกี่ยวข้อง : Sodium chloride
แหล่งที่มาของข่าว : http://www.chemtrack.org/ fut Coins